กันสั่นคืออะไร จำเป็นหรือไม่… ไปดู!

สำหรับคนที่ชอบถ่ายรูป โดยเฉพาะสายชิลทั้งหลายที่ถ่ายรูปเป็นงานอดิเรก เรามักรู้สึกว่าภาพของเรานั้นเบลอในบางที และตามมาด้วยคำแนะนำว่า “ใช้กันสั่นสิ ช่วยได้”

แต่ “กันสั่น” จะเป็นสิ่งที่ครอบจักรวาล ขาดไม่ได้เลยจริงๆ เหรอ?
คำตอบคือ ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะต้องใช้กันสั่น และสำหรับบางคนนั้นอาจไม่จำเป็นต้องมีกันสั่นเลยก็ได้

กันสั่นนั้น ปกติแล้วเราจะใช้เพื่อลดการสั่นไหวสำหรับการถ่ายภาพที่เบลอจาก “การถือกล้อง” เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าลดได้แค่ภาพที่เบลอจากกรณีนี้ ส่วนภาพเบลอจากกรณีอื่นๆ เช่น ชัตเตอร์สปีดเร็วไม่พอ หรือเรื่องอื่นๆ กันสั่นจะไม่ช่วยอะไรเลย

ปกติแล้วเราจะใช้กันสั่นก็ต่อเมื่อ เราไม่สามารถถือกล้องโดยใช้ชัตเตอร์สปีดที่สูงพอที่จะทำให้กล้องไม่สั่นได้ โดยเรามักอ้างสูตร 1/ทางยาวโฟกัส (เลข mm ที่เลนส์นั่นแหละคือ “ทางยาวโฟกัส”)ให้เป็นมาตรฐานว่าเราควรใช้ชัตเตอร์สปีดขั้นต่ำเท่าไรที่ถือได้โดยไม่สั่น

เช่น ถ้าเราใช้เลนส์ 50mm เราก็ควรจะใช้สปีดขั้นต่ำที่ 1/50 หรือสูงกว่านั้น จะ 1/100 1/250 1/500 หรือสูงขนาดไหนก็ได้

แต่ถ้าต่ำกว่า 1/50 จะเสี่ยงพอสมควรที่ภาพของเราจะเบลอเมื่อถือด้วยมือ

หรือถ้าเราใช้เลนส์ 70-200mm แล้วถ่ายที่ระยะ 135mm ชัตเตอร์สปีดขั้นต่ำที่ควรใช้ก็คือ 1/135 หรือสูงกว่านั้นนั่นเอง

ภาพนี้ใช้เลนส์ 300mm ก็ดันสปีด 1/320s ไป ซึ่งถ่ายกลางวันก็ดันได้ ไม่มีปัญหา

คำถามคือ ถ้าเราจำเป็นต้องใช้สปีดที่ต่ำกว่าสูตรนี้ในการถ่ายภาพล่ะ?

คำตอบคือ ขาตั้ง ไม้กันสั่น ไม่ก็กันสั่นของกล้องและเลนส์

และบล็อคนี้เราจะพูดเรื่องกันสั่นของกล้องและเลนส์ครับ 🙂

กันสั่น คืออะไร?

กันสั่นนั้นหลักๆ จะมี 2 แบบ คือ

  1. กันสั่นแบบ Optical (Optical Image Stabilization)ที่เป็นชิ้นส่วนในตัวกล้องหรือเลนส์ขยับได้ เพื่อชดเชยการสั่นในทิศทางต่างๆ
  2. กันสั่นดิจิตอลหรือ EIS (Electronic Image Stabilization) จะใช้ Software ในการควบคุมไม่ให้ภาพสั่น มักครอปภาพที่ได้เข้าไประดับหนึ่งเพื่อใช้งาน EIS โดย EIS มักใช้กับการถ่าย VDO เป็นหลัก

EIS ผมจบแค่ตรงนี้นะครับ ครั้งนี้ขอลงรายละเอียด OIS ก่อน

กันสั่นนั้น สำหรับกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ยุคนี้ส่วนใหญ่จะใส่ไว้ที่ตัวเลนส์ แต่มีบางค่ายที่ใส่ไว้ในตัวกล้อง และบางค่ายก็มีกันสั่นทั้งตัวกล้องและเลนส์เลย

ถ้าไม่เห็นเลนส์ตัวไหนของค่ายมีกันสั่นเลย ให้ลองไปดูก่อนว่าบอดี้กล้องมีกันสั่นรึเปล่า ส่วนใหญ่เลยกันสั่นจะอยู่ที่เลนส์หรือที่กล้องอย่างใดอย่างหนึ่ง

สัญลักษณ์ VC คือกันสั่นของเลนส์ Tamron

กันสั่นใช้ชื่อว่าอะไร

ลองสังเกตชื่อเลนส์ดู ถ้าเลนส์ตัวไหนมีกันสั่น จะมีชื่อนี้เขียนไว้

  • เลนส์ Canon ใช้ IS
  • เลนส์ Nikon ใช้ VR
  • เลนส์ Sony ใช้ OSS
  • เลนส์ Fujifilm ใช้ OIS
  • เลนส์ Panasonic ใช้ O.I.S.
  • เลนส์ Sigma ใช้ OS
  • เลนส์ Tamron ใช้ VC

ส่วนกล้อง Olympus และ Pentax K ใช้กันสั่นในกล้องเป็นหลักครับ หายากมากที่เลนส์จะมีกันสั่นในตัว

เมื่อไรที่จำเป็นต้องใช้กันสั่น?

สำหรับภาพนิ่ง

จากสูตร 1/ทางยาวโฟกัส จะเห็นได้ว่าเราจะเจอกรณีที่ดันชัตเตอร์สปีดไม่ไหว 2 กรณีหลักๆ คือ

  1. ถ่ายในที่แสงน้อย
  2. ใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสูง

ทั้งสองกรณี ถ้าเราอยากให้ภาพสว่างพอ เราอาจใช้สปีดต่ำเกินไป อย่างเลนส์ 50mm ที่สปีด 1/50 อาจสว่างไม่พอ อาจต้องลดลงมาที่ 1/20 ซึ่งโอกาสภาพเบลอจากการสั่นค่อนข้างสูง

“ถ้าอยากรู้ว่าภาพเบลอเกิดจากอะไรบ้าง ต้องอ่านบล็อคนี้
ภาพเบลอเกิดจากอะไร… ไปดู !

นั่นล่ะครับ… “กันสั่น” ก็มีไว้เพื่อกรณีนี้

ภาพนี้แสงช่วงเย็น และใช้ชัตเตอร์สปีดช้าพอสมควร ถ้าไม่มีกันสั่นก็หาที่ตั้งกล้องได้เลย…ไม่งั้นภาพเบลอแน่นอน

ซึ่งถ้าเราถ่ายในที่แสงน้อย การที่เราใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ถือได้ที่ชัตเตอร์สปีดต่ำ หรือใช้เลนส์สว่างๆ ที่มีรูรับแสงกว้างเพื่อให้ได้แสงเข้ากล้องมากขึ้นก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะไม่ต้องใช้กันสั่น

แต่ถ้าทำ 2 ข้อนี้ไม่ไหวแต่ภาพยังสว่างไม่พอ กันสั่นจะเริ่มมีประโยชน์แล้วล่ะ

โดยพื้นฐาน กันสั่นจะทำงานได้ดีอย่างน้อยๆ 2 stop (อยากรู้ว่า 1 stop มากแค่ไหน ลองดูง่ายๆ จากการชดเชยแสง จาก +0 ไป +1 +2 นั่นแหละครับ แสงเพิ่มทีละ 1 stop) และกันสั่นที่ดีมากๆ อาจชดเชยได้ถึง 4-5 stop

เมื่อเรามีกันสั่นแล้ว เราสามารถใช้เลนส์ 50mm ถ่ายที่สปีด 1/20 ได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องกลัวภาพสั่นแล้ว

สำหรับ VDO

ในงาน VDO นั้น หากคุณไม่ได้ตั้งกล้องไว้กับขาตั้ง กันสั่นถือเป็นเรื่องสำคัญพอสมควรเลย

เพราะกันสั่นจะทำให้ VDO ที่ถือด้วยมือของคุณกระตุกน้อยลงแบบรู้สึกได้ แต่คนที่จริงจังกับงานนี้จะเลือกใช้ไม้กันสั่น(Gimbal)ที่ลดการสั่นไหวได้สูงกว่า

สรุปสิ ตกลงกันสั่นจำเป็นหรือไม่?

สรุปย่อๆ ก็คือ กันสั่นมีไว้อุ่นใจกว่า แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่ต้องใช้กันสั่น

กันสั่นนั่นมีความสำคัญหลักๆ อยู่ 2 กรณี คือถ่ายภาพในที่แสงน้อยๆ ที่ใช้สูตร 1/ทางยาวโฟกัส แล้วตั้งชัตเตอร์สปีดตามสูตรไม่ไหว โดยเฉพาะเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงๆ อย่างเทเลซูม ตรงนี้กันสั่นเป็นเรื่องสำคัญเพราะบางครั้งคุณก็ตั้งสปีดตามสูตรไม่ไหว

อีกกรณีคือการถ่าย VDO แบบถือด้วยมือ กันสั่นจะช่วยให้ภาพไม่ดูกระตุกๆ จากมือที่สั่นนั่นเอง

แต่ถ้าคุณใช้กล้องถ่ายสบายๆ เดินถ่ายกลางวันเป็นหลัก มีแค่เลนส์ไวด์ เลนส์นอมอล ไม่พกเทเล ตรงนี้กันสั่นอาจไม่จำเป็นเท่าไร อย่างกรณีของผมที่เดินถ่ายถนนคนเดินช่วงกลางคืนหลายๆ ที่ แค่ผมใช้เลนส์ 35mm ใช้ F/2.8 และ ISO1600-3200 ผมก็ได้ภาพที่สว่างพอแล้ว ถ้าใช้กันสั่นแล้วลดสปีด…คนในภาพจะเบลออีก

อ่านถึงตรงนี้ เราน่าจะเข้าใจแล้วว่ากันสั่นนั้นไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่ช่วยได้ทุกอย่างนะ 😉

คำถามท้ายบล็อค

Q: ถ้าเรามือนิ่ง เราจะใช้สปีดต่ำกว่าสูตร 1/ทางยาวโฟกัส ได้หรือไม่
A: ได้ เพราะสูตรนี้เป็นแค่ค่ามาตรฐาน ความเป็นจริงมือคนเรานิ่งไม่เท่ากัน เลนส์ 50mm บางคนใช้ขั้นต่ำ 1/35 ได้ บางคนต้องใช้ 1/80 ก็เป็นไปได้

Q: ถ้าใช้สปีดสูงๆ อย่าง 1/250 แล้วกันสั่นยังจำเป็นหรือไม่
A: ปกติแล้วถ้าใช้สปีดสูงมากๆ กล้องส่วนใหญ่จะปิดกันสั่นให้ครับ นั่นหมายถึงไม่จำเป็นครับ

Q: กรณีไหนที่เราไม่ต้องใช้กันสั่น
A: ถ้ากันสั่นจำเป็นเมื่อแสงน้อยหรือทางยาวโฟกัสสูงๆ กรณีที่เราถ่ายในที่แสงมากก็ไม่จำเป็นต้องใช้กันสั่น(ถึงจะมีกันสั่น ตอนนั้นกล้องก็จะปิดกันสั่นไว้) เพราะกล้องมักดันชัตเตอร์สปีดสูงๆ จากการชดเชยแสงอยู่แล้ว อย่างกลางถ่ายกลางแดดที่กล้องชอบดันสปีด 1/500 ให้ผมใช้ประจำ สปีดสูงขนาดนี้กันสั่นไม่ได้ใช้แน่นอน

Q: สำหรับสาย Landscape ที่เน้นตั้งขากล้องถ่าย จำเป็นต้องมีกันสั่นหรือไม่
A: ไม่จำเป็นครับ

Q: ถ้าไม่อยากลดชัตเตอร์สปีดเพื่อเพิ่มแสงเข้ากล้อง อะไรที่เพิ่มได้บ้าง
A: ใช้รูรับแสงกว้าง ดัน ISO หรือเพิ่มแหล่งกำเนิดแสง

Q: กล้องและเลนส์ไม่มีกันสั่น อะไรช่วยได้บ้าง
A: ใช้ขาตั้งกล้อง หรือไม่ใช้วิธีลดการสั่นอื่นๆ เช่นการถือกล้องให้ถูกวิธี หรือเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายพิงกับสิ่งที่อยู่นิ่งๆ จะช่วยให้โอกาสภาพสั่นน้อยลง

Q: เรามีกันสั่นอยู่แล้ว ต้องระวังอะไรอีก
A: ถึงกันสั่นจะช่วยไม่ให้สั่นเมื่อถือกล้อง แต่ชัตเตอร์สปีดที่ต่ำก็มีโอกาสเจอ Motion blur ที่เบลอจากกล้องที่จับความเคลื่อนไหวไม่ทันอีกด้วยนะ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ