ภาพเบลอเกิดจากอะไร… ไปดู !

ภาพเบลอ… จะเรียกว่าเป็นสาเหตุหลักของภาพเสียก็ว่าได้ ซึ่งภาพเบลอนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องเบลอเพราะโฟกัสไม่เข้าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นไปได้หลายสาเหตุด้วยกัน

เมื่อคุณอ่านบล็อคนี้จบ มั่นใจได้เลยว่าคุณจะรับมือกับความ “เบลอ” ได้แน่นอน

ภาพเบลอ… เกิดจากอะไรบ้าง?

สาเหตุหลักๆ คือภาพเบลอนั้น เกิดขึ้นได้จาก 4 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ

  1. โฟกัสไม่เข้า
  2. คุณภาพของเลนส์ดีไม่พอ
  3. ความละเอียดของกล้องต่ำเกินกว่าการใช้งาน
  4. ภาพสั่นไหวจากการถือกล้อง
  5. วัตถุในภาพเคลื่อนที่เร็ว

เบลอ…เพราะโฟกัสไม่เข้า

ไม่ต้องอธิบายอะไรมากกับเรื่องนี้ โฟกัสไม่เข้า = เบลอ

ปกติแล้วภาพที่ชัด คือภาพที่โฟกัสเข้าในจุดที่อยากจะสื่อ นั่นคือสิ่งที่เราต้องโฟกัสมัน

อย่างภาพนี้ จุดโฟกัสอยู่ที่บ้านตรงกลางภาพ ผมเน้นที่บ้านหลังนี้ อย่างอื่นปล่อยเบลอได้ ภาพนี้ชัด

แต่ถ้าเป็นภาพนี้ ไม่มีจุดไหนชัดเลย ภาพนี้เบลอ

ถ้าจะให้ดี ผมอยากให้เช็คโฟกัสให้ดีก่อน เพื่อที่ภาพนั้นจะชัดในจุดที่ควรชัดครับ

เบลอ…เพราะคุณภาพของเลนส์กล้อง

บางทีภาพเบลอๆ ก็เป็นความผิดของเลนส์ได้นะ

โฟกัสละเอียดแค่ไหน ถ้าเลนส์ไม่ชัด ภาพก็เบลอ

แบบเนี้ย ตัวชัดหน้าเบลอ ทั้งที่อยู่ระนาบเดียวกันนี่แหละ อันนี้ความผิดเลนส์ (เลนส์บางตัวจะให้ภาพชัดแค่ส่วนกลางๆ ภาพ ขอบภาพจะไม่ชัด)

หรือมีอีกเคสคือเรื่องรูรับแสง เพราะเลนส์ส่วนใหญ่จะมีช่วงที่ได้ภาพคมชัดที่สุดที่ F/5.6-11 และที่ F กว้างสุดเลนส์บางตัวก็ไม่คมเท่าไรนัก ถ้าหรี่ F สักนิด ภาพที่ได้จะดูคมชัดขึ้น

แค่หรี่ ภาพก็ดูดีขึ้นแล้ว และนี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ช่างภาพสาย Landscape ชอบใช้ F/8-11 กันด้วย เพราะความคมชัดนั่นเอง

เบลอ…เพราะความละเอียดภาพต่ำเกิน

ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นจากกล้องยุคใหม่ๆ แล้วครับ เพราะส่วนใหญ่ความละเอียดของกล้องสูงถึง 8MP หรือสูงกว่านั้นอยู่แล้ว ถ้าความละเอียดสูงระดับนี้ ปัญหาไม่ใช่ขนาดไฟล์ภาพแน่นอน

เห็นเบลอๆ ไม่ใช่อะไร แค่ความละเอียดต่ำเกินไป

แต่เราจะเจอปัญหานี้ตอนที่เซฟภาพจาก Facebook มาใช้ หรือใช้ฟีเจอร์โอนภาพจากกล้องผ่าน Wifi โดยไม่ตั้งค่าให้ส่งภาพขนาดเต็มออกมา

หากนำภาพที่เล็กเกินไปมาใช้ มาครอปเพิ่ม หรือซูมเข้าไปดูจะเห็นภาพแตก ซึ่งนั่นเป็นปกติของภาพที่ขนาดเล็กเกินไปครับ

เบลอ…เพราะภาพสั่นจากการถือกล้องด้วยมือ

เรื่องนี้ดูปวดหัวนิดหน่อยนะ ทนอ่านนิดนึง 😅

เพราะมือเราถือกล้องได้นิ่งไม่พอ ภาพก็เลยเบลอครับ

เรื่องนี้เริ่มจากตัวกล้องเองมี “ชัตเตอร์สปีด” ที่บอกว่ากล้องของเราตั้งค่าไว้ให้สับชัตเตอร์ด้วยความเร็วมากน้อยแค่ไหน โดยชัตเตอร์จะเร็วมากถ้าสปีดสูงถึง 1/4000s (s คือ วินาที)และช้าลงเรื่อยๆ เป็น 1/2000s 1/500s 1/200s 1/50s จนช้าระดับ 1 วินาทีหรือช้ากว่านั้น (ใครเคยใช้ Mode S หรือ Mode M น่าจะพอเข้าใจ)

ทีนี้คือ ถ้าชัตเตอร์ช้าเกินไป มือของเราไม่นิ่งพอที่จะถือกล้องให้นิ่งพอได้ ภาพจึงเบลอ

ซึ่งตัวแปรของเรื่องนี้มี 2 เรื่องคือ

  1. ชัตเตอร์สปีด
  2. ทางยาวโฟกัสของเลนส์(เลข mm ที่เลนส์)

วิธีหาชัตเตอร์สปีดขั้นต่ำที่จะถือได้สำหรับเลนส์ตัวนั้นๆ เรามีสูตร “1/ทางยาวโฟกัส” เป็นขั้นต่ำในการตั้งชัตเตอร์สปีด เช่น เราใช้เลนส์ 50mm ติดกล้องไว้ เราก็ควรตั้งชัตเตอร์สปีดที่ 1/50s หรือเร็วกว่านั้น (1/80s  1/100s  1/500s  อะไรก็ว่าไป)

ถ้าใช้เลนส์ 140mm เราต้องใช้สปีดขั้นต่ำที่ 1/140s หรือสูงกว่าอย่าง 1/200 1/500

“สูตร 1/ทางยาวโฟกัส เป็นเพียงมาตรฐานเท่านั้น สำหรับบางคนอาจถือกล้องได้นิ่งกว่านั้น หรือมือสั่นง่ายกว่านั้นก็ได้”

ลองสังเกตสูตรดีๆ จะเห็นว่า เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงๆ จะมีปัญหาเรื่องชัตเตอร์สปีดมากกว่าเลนส์มุมกว้างที่ทางยาวโฟกัสน้อยๆ

ถ้าเราอยากใช้ชัตเตอร์สปีดที่ต่ำกว่ามาตรฐานนี้ล่ะ เราทำอะไรได้บ้าง?

  1. ใช้กันสั่น เพราะกันสั่นนั้นจะช่วยให้เราใช้สปีดได้ต่ำกว่าปกติ อย่างเลนส์ 50mm เราอาจถือได้ที่ 1/5s โดยภาพไม่เบลอ ซึ่งใช้ชัตเตอร์สปีดได้ต่ำกว่าการถือด้วยมือตามปกติ
    …แต่ถ้าจะใช้สปีด 1/500s กันสั่นไม่ได้ใช้หรอก(เว้นแต่ใช้เลนส์ 400mm ขึ้นไป) จะเห็นได้ว่ากันสั่นไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นนะ
  2. ตั้งขากล้อง หรือวางกล้องบนที่นิ่งๆ วิธีนี้เราจะใช้สปีดต่ำขนาดไหนก็ได้ โดยส่วนมากเราจะใช้วิธีนี้ในการลากสปีดนานๆ อย่างเช่นลากไฟรถเป็นเส้น ถ่ายวิวแบบเก็บแสงไฟ หรือถ่ายดาว
    *หากตั้งกล้องในพื้นที่ที่สั่นได้อย่างเช่นบนสะพานลอย ภาพอาจสั่นได้แม้อยู่บนขาตั้งกล้อง
    **ขาตั้งกล้องที่แข็งแรงไม่พออาจทำภาพเบลอได้บ้างเหมือนกันนะ
  3. ลดการสั่นของมือ อาจใช้วิธีดึงสายคล้องกล้องไปข้างหน้าให้ตึง นั่งชันเข่าแล้ววางมือลงบนเข่า หรือใช้ตัวพิงกำแพง ทำยังไงก็ได้ให้ตัวและมือนิ่งที่สุด เลนส์ 50mm เราอาจถ่ายได้ที่ 1/30s โดยที่ไม่ต้องมีอุปกรณ์เสริมก็ได้

เบลอ…เพราะวัตถุในภาพเคลื่อนไหวเร็วเกินไป

นี่ก็เป็นเรื่องของชัตเตอร์สปีดเช่นกัน

ด้วยความที่กล้องนั้นมีความเร็วของชัตเตอร์สปีดกำกับไว้ บางครั้งการตั้งค่าชัตเตอร์สปีดของกล้องก็ช้าเกินกว่าที่จะเก็บภาพตรงหน้าได้ชัดๆ เพราะวัตถุนั้นเร็วเกินไป

อย่างในภาพนี้ กล้องใช้ชัตเตอร์สปีดช้าเกิน ทำให้หยุดความเคลื่อนไหวของคนที่เดินอยู่ไม่ทัน

วิธีแก้อย่างง่ายมีวิธีเดียว คือเพิ่มชัตเตอร์สปีดจนจับภาพวัตถุนั้นๆ ได้ทัน

ถ้า 1/60s จับภาพไม่ทัน ก็เพิ่มเป็น 1/125s  1/160s  1/250s เพิ่มไปเรื่อยๆ จนภาพชัด

(จริงๆ มีเรื่องของการแพนกล้องที่ช่วยได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ชัดเป๊ะเหมือนเรื่องชัตเตอร์สปีด)

แต่จริงๆ แล้ว การที่วัตถุในภาพเบลอๆ บางทีก็มีประโยชน์นะ อย่างการถ่ายดาวหมุน หรือถ่ายไฟวิ่งเป็นเส้นก็ใช้หลักการนี้ ลากชัตเตอร์นานๆ เพื่อให้ไฟจาก “จุด” ลากยาวเป็น “เส้น” นั่นเอง

ไฟเป็นเส้นภาพนี้ถูกลากชัตเตอร์สปีดนานถึง 4 วินาที ทำให้ไฟรถที่กล้องจับภาพได้ตั้งแต่เริ่มถ่ายถูกเก็บแสงช่วงนั้นไว้ถึง 4 วินาที ทำให้ไฟเป็นเส้นยาวๆ ได้

จบแล้ว…

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ภาพเบลอได้ก็มีเท่านี้ เราแค่ดูว่าทำไมภาพถึงเบลอ และแก้ไขให้ถูกจุดเท่านั้นก็ไม่เบลอแล้ว ง่ายนิดเดียว 🙂

เรื่องที่คุณอาจสนใจ