How to ละลายหลัง ถ่ายยังไง… ไปดู !

สวัสดีครับ ถ้าพูดถึงการซื้อเลนส์ตัวใหม่ออกมาสักตัวหนึ่ง เหตุผลของการซื้อก็คงมีไม่กี่อย่าง

อาจเพราะต้องการเลนส์ที่มีระยะต่างจากเลนส์ที่มี อยากได้เลนส์ที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ และอีกเหตุผลยอดนิยมสำหรับการซื้อเลนส์เพิ่มนั่นก็คือ “ละลายหลัง”

ครับ…ไม่แปลกเลยที่เราอยากซื้อเลนส์ใหม่ เพราะเลนส์ที่มีอยู่นั้นถ่ายคนแล้วละลายฉากหลังได้ไม่สะใจเท่าที่อยากจะเป็น

หากต้องการวิธีถ่ายภาพแบบละลายหลัง บทความนี้ช่วยได้แน่นอนครับ

4 ปัจจัยของการละลายหลัง

1. เลนส์รูรับแสงกว้าง

เลนส์รูรับแสง(F-stop) กว้าง คือสิ่งที่สำคัญมากในการละลายฉากหลัง

โดยรูรับแสงนั้น ยิ่งเลขน้อยจะเปิดม่านรับแสงได้กว้างขึ้น นั่นหมายถึงกล้องจะรับแสงได้มาก และฉากหลังจะถูกเบลอมากขึ้นด้วย

ภาพเปรียบเทียบการละลายฉากหลัง โดยให้แต่ละภาพเปิดรูรับแสงไม่เท่ากัน

จะเห็นได้ว่า เมื่อ F-stop ต่ำลง ฉากหลังจะถูกละลายมากขึ้น และสปีดชัตเตอร์จะสูงขึ้นด้วยเพราะได้แสงเข้ามามากขึ้น

ฉะนั้น ถ้าอยากละลายหลังมากๆ เลนส์ F กว้างได้เปรียบกว่าแน่นอน

2. ทางยาวโฟกัสของเลนส์

อีกเรื่องที่มีผลกับเอฟเฟคละลายหลัง คือทางยาวโฟกัสของเลนส์ครับ

โดยพื้นฐานแล้วเลนส์ที่ทางยาวโฟกัสสูง จะดึงฉากหลังเข้ามามากขึ้น

ภาพเปรียบเทียบการละลายฉากหลังจากเลนส์ 25mm  35mm และ 50mm

จากภาพ จะเห็นว่าเมื่อเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงขึ้น (จากภาพคือ 25 -> 35 -> 85mm ตามลำดับ)
ฉากหลังที่ถูกดึงเข้ามาจะทำให้เสมือนฉากหลังถูกเบลอมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งเอฟเฟกต์โบเก้ดวงโตๆ ก็ได้มาจากการใช้เลนส์ที่มีเลข mm สูงแบบในตัวอย่างนี้

3. ระยะห่างระหว่างกล้อง-ตัวแบบ-ฉากหลัง

เรื่องนี้ มีแค่ 2 ข้อที่ต้องจำ คือ

  1. กล้องอยู่ใกล้ตัวแบบ ยิ่งใกล้ ฉากหลังยิ่งเบลอ
  2. ตัวแบบกับฉากหลัง ยิ่งฉากหลังอยู่ไกล ฉากหลังยิ่งเบลอ

เรามาทดสอบข้อแรกกันก่อน โดยตัวอย่างด้านล่างนี้จะใช้กล้องและเลนส์ตัวเดียวกัน ตัวแบบ(ตุ๊กตาแมว)อยู่กับที่ และฉากหลังอยู่กับที่ สิ่งที่เปลี่ยนมีแค่ระยะห่างระหว่างกล้องถึงตัวแบบเท่านั้น

ตัวอย่างการเปรียบเทียบ ระยะห่างระหว่างกล้องถึงตัวแบบ

จากภาพด้านบน แม้ตัวแบบจะอยู่ที่เดิม แต่เมื่อกล้องขยับเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้น ฉากหลังจะถูกเบลอมากขึ้นด้วย

ส่วนอีกเรื่องคือ ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับฉากหลัง

จากภาพ หากโฟกัสไปที่กำแพงอิฐด้านหลัง จะเห็นว่าภาพด้านล่างจะเบลอฉากหลังได้ดีกว่า เพราะตัวแบบอยู่ห่างจากฉากหลังมากกว่า

4. ขนาดเซ็นเซอร์รับภาพ

จากภาพด้านบน ลองดูที่เซ็นเซอร์รับภาพ(แผงสีเขียวด้านบน) จะเห็นว่าขนาดมันไม่เท่ากัน

ขนาดไม่เท่ากันจะเกิดอะไรขึ้น?

เลนส์เดียวกัน แต่กว้างไม่เท่ากันครับ

ด้วยขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพที่ใหญ่ไม่เท่ากัน หากใส่เลนส์ที่ทางยาวโฟกัสเท่ากัน (เช่นเลนส์ 50mm) ภาพของกล้อง Full Frame จะกว้างที่สุด และกล้องที่เซ็นเซอร์รับภาพเล็กกว่าก็จะได้ภาพที่แคบลงเรื่อยๆ เหมือนภาพที่ Crop เอาขอบภาพออก

สมมติว่าในสถานการณ์หนึ่ง กล้อง Full Frame ที่ใช้เลนส์ 50mm กว้างพอที่จะถ่ายได้ครึ่งตัว
แต่บน APS-C มันจะแคบลงกว่าเดิม ก็เลยถ่ายครึ่งตัวไม่ไหว
แล้วเราทำอะไรได้บ้าง?

  1. ถอยหลังออกไปอีก –> ฉากหลังละลายน้อยลงเพราะกล้องห่างจากแบบมากกว่า
    ตามเนื้อหา 3. ระยะห่างระหว่างกล้อง-ตัวแบบ-ฉากหลัง
  2. เปลี่ยนไปใช้เลนส์อื่น –> ถ้า Full Frame ใช้ระยะ 50mm แล้วพอดี กล้อง APS-C ก็เปลี่ยนไปใช้ 35mm เพื่อให้ภาพกว้างใกล้เคียงกัน ก็จะละลายหลังน้อยลง
    ตามเนื้อหา 2. ทางยาวโฟกัสของเลนส์

สำหรับรายละเอียดเรื่องขนาดเซ็นเซอร์รับภาพ อ่านเต็มๆ ได้จากลิงค์นี้ —> ว่าด้วยเรื่องของขนาดเซ็นเซอร์รับภาพ และ Crop factor

นี่คือเหตุผลว่าทำไมกล้องเซ็นเซอร์ใหญ่ถ่ายละลายหลังได้ดีกว่ากล้องเซ็นเซอร์เล็กๆ ครับ

สรุป

การละหลายฉากหลังนั้นมี 4 ตัวแปรสำคัญ

1. เลนส์ F-stop กว้าง : ยิ่ง F กว้าง ฉากหลังยิ่งเบลอมาก
2. ทางยาวโฟกัสของเลนส์ : ยิ่งใช้เลนส์ที่มีเลข mm มาก ฉากหลังที่ถูกดึงเข้ามาจะทำให้ดูเบลอมากขึ้น
3. ระยะห่างของกล้อง ตัวแบบ และฉากหลัง : ถ่ายใกล้ตัวแบบ และทิ้งฉากหลังให้อยู่ห่างๆ ตัวแบบเข้าไว้ จะละลายหลังได้มาก
4. ขนาดเซ็นเซอร์รับภาพของกล้อง : กล้องเซ็นเซอร์ใหญ่ ละลายหลังได้มากกว่าเสมอ

ตามหลักการมีเท่านี้เอง ไม่มากไม่มายอะไรเลย

ลองนำไปใช้ดูครับ แล้วฉากหลังจะละลายหลังได้แน่นอน 😀