F-stop รูรับแสงคืออะไร… ไปดู!

F-stop หรือรูรับแสงนั้นคือหนึ่งในค่าพื้นฐานที่สุดของกล้องถ่ายรูป โดยรูรับแสงนั้นมีผลค่อนข้างมากกับการถ่ายภาพ เนื่องจากตัวมันเองช่วยปรับแสงให้เข้ากล้องได้มากหรือน้อย และบังคับการละลายหลังอีกด้วย

แต่รูรับแสงคืออะไร อยู่ตรงไหน ทำอะไรได้อีกนั้น… ไปดูกัน!

รูรับแสงคืออะไร?

รูรับแสง หรือ F-stop(หรือที่เรียกสั้นๆ ตอนพูดถึงเลนส์ว่าค่า F) เป็นตัวเลขที่บอกว่าม่านรูรับแสงมีขนาดใหญ่แค่ไหน ซึ่งม่านนี้อยู่ในตัวเลนส์ มีหน้าที่ควบคุมแสงให้ผ่านเข้ามากน้อยจากการเปิด-ปิดม่านนี้ให้แสงลอดผ่าน

โดยม่านที่ว่าหน้าตาเป็นแบบในภาพด้านล่างครับ อย่างในภาพนี้เป็นม่านแบบ 6 เบลด(ลองสังเกตช่องรับแสงที่ทรง 6 เหลี่ยม) ซึ่งเลนส์แต่ละตัวจะมีจำนวนใบเบลดนี้ไม่เท่ากัน มากน้อยขึ้นกับการออกแบบตัวเลนส์เอง

“จำนวนใบเบลดของม่าน มีผลต่อทรงโบเก้ และจำนวนแฉกไฟด้วยนะ”

เรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก ถ้าม่านเปิดกว้างแสงก็ผ่านเยอะ ม่านเปิดแคบแสงก็ผ่านน้อย

เพราะเรื่องนี้คนถึงเรียกติดปากกันด้วยคำว่า “F กว้าง” “F แคบ” จากการหรี่ม่านรูรับแสงนั่นเอง

ค่ารูรับแสงนั้นจะใช้ในรูปของ F/ตัวเลข เช่น F/1.4  F/2.8 F/16 แต่อนุโลมให้เขียนรีบๆ ด้วยการตัดเครื่องหมาย “/” ออก จะเขียนว่า F2.8 ห้วนๆ ก็ได้ เราจะเข้าใจตรงกันว่าคือรูรับแสง

F-stop ดูยังไงว่ามากหรือน้อย

“ตรรกะง่ายๆ ของรูรับแสงคือ เลขน้อยมักดีกว่าเลขมาก”

ค่ารูรับแสงนี่จะดูมึนๆ หน่อย เพราะโดยพื้นฐานของรูรับแสง เลขมากคือ “รูรับแสงแคบ” เลขน้อยคือ “รูรับแสงกว้าง” อย่างเช่น F/1.8 กว้างกว่า F/2.8 หรือ F/4 กว้างกว่า F/8

มือใหม่จะงง อ้าว… ทำไมเลขมากๆ ไม่ดีกว่าล่ะ
ไม่ได้นะ…ไม่ได้ ถ้าจะเอา F กว้างๆ ต้องใช้เลขน้อยๆ นะ

เอาใหม่… ผมเรียงจากรูรับแสง “กว้าง” ไป “แคบ” ให้ดูนะครับ

[กว้าง] F/1.4 -> F/2.0 -> F/2.8 -> F/4 -> F/5.6 -> F/8 -> F/11 -> F/16 [แคบ]

ใช่ครับ เลขน้อยๆ ดีกว่าเลขมากๆ

ยิ่งกว้าง ยิ่งได้แสงมาก ละลายหลังมากขึ้นด้วย ตามนี้

[ได้แสงมาก] F/1.4 -> F/2.0 -> F/2.8 -> F/4 -> F/5.6 -> F/8 -> F/11 -> F/16 [ได้แสงน้อย]

ตัวอย่างภาพด้านบนถูกตั้งชัตเตอร์สปีดและ ISO ให้เท่ากันทุกภาพ จะเห็นว่าเมื่อปรับรูรับแสงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภาพจะมืดลงเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่ารูรับแสงมีผลต่อความสว่างที่ได้

ลองมาดูด้านล่างอีกภาพ

จากภาพด้านบน ผมล็อคค่าชัตเตอร์สปีดไว้ และตั้งค่าชดเชยแสง เพื่อให้สังเกตว่าหากเราต้องการให้ภาพ “สว่างพอดี” รูรับแสงจะทำอะไรได้บ้าง

จากภาพ จะเห็นว่าถ้าเราใช้รูรับแสงกว้างๆ กล้องจะไม่ต้องดัน ISO สูงมาก และถ้าเราใช้รูรับแสงแคบ กล้องจะค่อยๆ เพิ่ม ISO ไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นหมายถึงคุณภาพไฟล์ก็มีโอกาสลงลดตามไปด้วย (ถ้าใช้ Mode A แล้วปล่อยชัตเตอร์สปีดออโต้ กล้องอาจลดความเร็วชัตเตอร์ให้ด้วย อาจยุ่งกว่าเดิมอีก)

จะเห็นว่ารูรับแสงกว้างๆ ช่วยให้ได้ภาพง่ายขึ้นก็ไม่ผิดนัก โดยเฉพาะสถานการณ์ที่แสงน้อย

ไม่ใช่แค่แสงมากหรือน้อย แต่ละลายหลังก็ดูที่นี่

ไม่ใช่แค่ควบคุมแสง ค่า F-stop นี้ยังมีผลต่อการละลายฉากหลังด้วย

ซึ่งการละลายหลังนั้นก็เหมือนกับค่าแสงครับ เลนส์ F-stop กว้างๆ(เลขน้อยๆ) จะละลายหลังมากกว่า F-stop แคบๆ ตามนี้เลย

[ละลายมาก] F/1.4 -> F/2.0 -> F/2.8 -> F/4 -> F/5.6 -> F/8 -> F/11 -> F/16 [ละลายน้อย]

ดูกันชัดๆ ที่ภาพด้านบนนี้ เมื่อเราปรับรูรับแสง ฉากหลังจะถูกเบลอไม่เท่ากัน โดยรูรับแสงกว้าง(เลขน้อย) จะเบลอฉากหลังได้มากกว่ารูรับแสงแคบ(เลขมาก)

สำหรับการถ่ายละลายหลังอย่างละเอียดนั้น อ่านได้ที่นี่ How to ละลายหลัง ถ่ายยังไง… ไปดู !

ธรรมชาติของเลนส์ F ต่ำ

F ต่ำ หมายถึงเลนส์รูรับแสงกว้างๆ หรือเลขน้อยๆ นั่นเอง(F ต่ำ F สูงนี่เป็นศัพท์ไม่ทางการที่หลายๆ คนชอบเรียกกัน) ซึ่งปกติแล้ว…

  • F-stop ใช้ควบคุมแสงโดยตรง เปิดกว้างสุดสว่าง หรี่ลงมาก็มืดลง
  • F-stop ควบคุมการละลายหลังโดยตรง ยิ่งทำ F-stop ต่ำๆ ยิ่งละลายหลังมากขึ้น
  • เลนส์ F-stop กว้างๆ มักเป็นเลนส์ฟิกซ์ และเลนส์ฟิกซ์มักให้ F-stop กว้างกว่าเลนส์ซูม(นี่คือเหตุผลที่เรามักซื้อเลนส์ฟิกซ์มาถ่ายคน เพราะมันมักละลายหลังได้มากกว่า
  • ที่ F-stop เท่ากัน เลนส์ซูมจะตัวใหญ่และหนักกว่าฟิกซ์เสมอ เพราะมันมีหลายระยะในเลนส์ตัวเดียว
  • ยิ่งใช้เลนส์ที่ F-stop กว้างๆ เลนส์ยิ่งใหญ่และหนักขึ้น (เช่น 50mm F/1.4 หนักกว่า 50mm F/1.8 และถ้าใช้ 50mm F/1.2 จะหนักขึ้นอีก)
  • F-stop ที่กว้างที่สุด ให้ความคมชัดต่ำที่สุด และเลนส์ส่วนใหญ่มักคมที่สุดในช่วง F/8 – F/11
  • เมื่อเราหรี่ F-stop ให้แคบลง(เลขมากขึ้น) ขอบภาพที่ดูเบลอๆ จะชัดขึ้น

บางทีผู้ผลิตก็ใช้ F-stop ในการแบ่งเกรดเลนส์

รูรับแสงนี่ใช้แบ่งเกรดของเลนส์ด้วยนะ อย่างเลนส์ติดกล้องเกรดธรรมดาอาจเป็น 28-70mm F/3.5-5.6 พอเกรดแพงหน่อยเป็น 24-70mm F/4.0 เลนส์เกรดสูงสุดคือ 24-70mm F/2.8

ส่วนใหญ่เลยไม่ใช่แค่เลนส์ F กว้างจะได้แค่รูรับแสงกว้างกว่า แต่คุณภาพชิ้นเลนส์ บอดี้เลนส์ หลายๆ อย่างก็อัพเกรดตามไปด้วย โดยใช้ F-stop ตัวนี้ในการแบ่ง ซึ่งก็ดีเหมือนกันเพราะเราสามารถแบ่งเกรดเลนส์ได้ด้วยการดูแค่ชื่อเลนส์ ไม่ต้องอ่านสเปคละเอียดก็ได้

สรุปสั้นๆ

ค่า F-stop หรือรูรับแสงนั้น มีหน้าที่หลักๆ 2 อย่าง คือ

  1. บังคับแสงให้ผ่านเข้ากล้องมาก-น้อย
  2. ควบคุมการละลายหลัง

โดยที่เลนส์ F กว้าง เลขน้อย จะได้แสงมากกว่า ละลายหลังมากกว่า แต่ตัวเลนส์ก็ใหญ่กว่า หนักกว่า แพงกว่าด้วย

จบแล้ว… แค่นี้เอง ไม่มีอะไรมาก 🙂

คำถามที่พบบ่อย

Q: เลนส์ที่ F-stop กว้างๆ นี่เราหรี่ F ได้มั้ย?
A: ได้สิ ถึงเราจะซื้อเลนส์ 50mm F/1.8 มา แต่เราจะถ่ายที่ F/1.8 หรือ F/4 หรือ F/8 ก็ได้ เรียกว่าปรับให้แคบลงได้…

Q: เลนส์ 50mm F/1.8 ปรับให้เป็น F/1.4 ได้รึเปล่า?
A: ไม่ได้! อย่าโกงสิ

Q: ถ้าต้องการตั้งค่ารูรับแสงเป็นหลัก ควรใช้กล้องโหมดอะไร
A: ใช้ Mode A (Mode Av) จะตรงตัวที่สุดครับ กล้องให้เราปรับรูรับแสงเอง ที่เหลือ Auto ได้ หรือถ้าอยากตั้งค่าชัตเตอร์สปีดด้วยจะเลือกใช้ Mode M ก็ได้เหมือนกัน

Q: ถ้ากล้องมีขนาดเซ็นเซอร์รับภาพไม่เท่ากัน ตอนเทียบกันต้องคูณ F-stop หรือไม่
A: ถ้าเทียบเพื่อดูการละลายหลัง คูณก็ได้ครับ จะเห็นภาพง่ายขึ้น แต่แสงที่ได้จะเท่ากันไม่ว่าจะเป็นกล้องเซ็นเซอร์เล็กใหญ่ ฉะนั้นคูณแค่ DOF ไม่ต้องคูณเรื่องแสงมากน้อย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ